วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

1.1 หลักการและเหตุผล
          การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะทางวิชาชีพในอัตราที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงและความต้องการดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อสภาพของตลาดแรงงาน (ณัญจณา กชกาน,2549)
  การศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีบริหารธุรกิจบัณฑิตของสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2553) ได้กำหนดให้นักศึกษาต้องทำการลงทะเบียนเรียนในกลุ่มวิชาเลือก กลุ่มวิชาการฝึกงาน โดยจะต้องผ่านรายวิชาการเตรียมฝึกงาน รหัสรายวิชา  BUE 3301  ซึ่งมี 1 หน่วยกิต [1(0-2-1)] โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการไปฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ  การพัฒนาบุคลิกภาพ และการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมการทำงาน และต้องมีการเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยมีระยะในการฝึกงานไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง หรือหนึ่งภาคการศึกษาฤดูร้อน (คำอธิบายรายวิชา หลักสูตรปรับปรุงพ.ศ. 2553) โดยการประเมินผลการศึกษา ให้ค่าระดับคะแนนเป็น 2 ค่าคะแนน  คือ พอใจ (S) หรือ ไม่พอใจ (U) ซึ่งในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพนั้นจะเน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ  โดยที่นักศึกษาจะต้องเข้ารับการฝึกปฏิบัติงานเต็มเวลาในหน่วยงานนั้น  โดยมีพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ ที่องค์กรมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของนักศึกษาเป็นที่ปรึกษา  มีการกำหนดลักษณะงาน  แผนการปฏิบัติงานให้นักศึกษา  เพื่อการประเมินผลการศึกษา
  กระบวนการในการดำเนินงาน  การฝึกงานของนักศึกษาโดยทั่วไป คือ ทางสาขาวิชาจะให้นักศึกษาสำรวจความต้องการรับนักศึกษาฝึกงานของสถานประกอบการต่างๆ ที่นักศึกษาสนใจด้วยตัวของนักศึกษาเอง จากนั้นอาจารย์ผู้รับผิดชอบจะเป็นผู้พิจารณาสถานประกอบการที่เหมาะสมในการฝึกงาน และทำหนังสือ ส่งตัวนักศึกษาเพื่อเข้ารับการฝึกงานไปยังสถานประกอบการ โดยทางสาขาวิชาจะจัดการปฐมนิเทศให้กับนักศึกษาก่อนส่งตัวนักศึกษาไปยังสถานประกอบการเพื่อรับตัวเข้าการฝึกงาน ในระหว่างที่มีการฝึกงานนั้น จะมีอาจารย์ออกไปนิเทศเพื่อติดตามและตรวจสอบเป็นครั้งคราว (มากกว่า 1ครั้งตลอดการฝึกงาน 1 ภาคเรียน)  เพื่อประสานงาน รับทราบถึงพฤติกรรมและปัญหาในระหว่างที่นักศึกษาที่เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกงาน เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจปรับพฤติกรรมของนักศึกษาให้เกิดผลดีในการฝึกงานในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อสิ้นสุดการฝึกงานจะมีการประเมินผลจากสถานประกอบการ  จากอาจารย์นิเทศ และจากการเขียนรายงานการฝึกงานของนักศึกษา  โดยจะนำข้อมูลทั้ง 3 ส่วนมาประเมินผลร่วมกันเพื่อคิดเป็นระดับคะแนนของการฝึกงานของนักศึกษาแต่ละคน
          จากการเก็บข้อมูลปัญหาทั้งก่อนและหลังการฝึกงานของนักศึกษา พบว่า  ก่อนการฝึกงานมีปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดของตัวนักศึกษาเอง เช่น การกรอกข้อมูลต่างๆ ไม่ชัดเจน การส่งเอกสารไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดและนักศึกษาไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนในการฝึกงาน  การออกหนังสือส่งตัวไม่ทันเวลาในการฝึกงาน  ซึ่งมีหลายส่วนที่สามารถนำระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ เช่น การแยกเอกสารของนักศึกษาแต่ละคน ระยะเวลาในการดำเนินงานเอกสารแต่ละฉบับ เป็นต้น
          ระหว่างการฝึกงาน นักศึกษาไม่สามารถติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยได้อาจะเกิดจากการติดต่อที่ติดขัด และการให้ข้อมูลต่างๆ ไม่ครบถ้วน เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์นิเทศออกนิเทศนักศึกษาจึงไม่พบนักศึกษา หรือนักศึกษาเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์โดยไม่แจ้งให้อาจารย์นิเทศทราบ และหลังการฝึกงานพบว่ามีเอกสารแบบประเมินส่งกลับมาไม่ครบถ้วน อีกทั้งการรายงานผลต่างๆ ไม่สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลเป็นสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ซึ่งหากระบบได้รับการพัฒนาให้ดีจะช่วยทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อให้ได้สารสนเทศ ทางด้านการบริหารได้ตรงตามความต้องการของสาขา เช่น รายงานจำแนกตามหัวข้อประเมิน รายงานจำแนกตามสถานประกอบต่างๆ แบบประเมินของทั้งสองส่วน (แบบประเมินสถานประกอบการ ,แบบประเมินนักศึกษาฝึกงาน) หรือ ฐานข้อมูลของสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น
          เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ หรือ ที่เรียกง่ายๆ ว่า “Cloud computing” นั้น ได้มีการกำหนดคำนิยามไว้มากมายขึ้นอยู่กับมุมมองและสถานการณ์ใช้งานของ แต่ละองค์กร บริษัทการ์ตเนอร์ (Gartner) ได้ให้คำนิยามว่าเทคโนโลยี Cloud Computing หรือ ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ คือ แนวทางการประมวลผลอันทรงพลัง ของโครงสร้างทางไอทีขนาดใหญ่ที่ขยายตัวได้ และถูกนำเสนอยังลูกค้าภายนอกจำนวนมหาศาลทั่วโลก ในรูปแบบของบริการ
          Cloud computing ยังเป็นรูปแบบวิธีการประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถระบุความต้องการไปยังซอฟต์แวร์ของระบบCloud computing จากนั้นซอฟต์แวร์จะร้องขอให้ระบบจัดสรรทรัพยากรและบริการให้ตรงกับความต้อง การผู้ใช้ ทั้งนี้ระบบสามารถเพิ่มและลดจำนวนของทรัพยากร รวมถึงเสนอบริการให้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทราบเลยว่าการทำงานหรือเหตุการณ์เบื้องหลังเป็นเช่นไร
          จุดประสงค์หลักของเทคโนโลยี Cloud Computing ก็เพื่อใช้ในการประมวลผล หรือสำรองข้อมูลจำนวนมากในปัจจุบัน รวมถึงรองรับข้อมูลในอนาคตที่อาจจะเพิ่มขึ้น และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ โดยใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากมาแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือประสานการทำงานระหว่างกัน เพื่อที่จะประมวลผลข้อมูล หรืองานขนาดใหญ่ต่างๆ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไปไม่สามารถจะประมวลผลออกมาได้ โดยปกติแล้วจะต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพสูงเข้ามาช่วย  แต่เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์ศักยภาพสูงเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่มีราคาแพงทั้งสิ้น ดังนั้นนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ จึงร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย
          จากปัญหาของการดำเนินการด้านการฝึกงานของนักศึกษาที่ผ่านมาและด้วยจุดเด่นของเทคโนโลยี Cloud Computing ที่สามารถสนับสนุนการทำงานของระบบได้นั้น ทำให้ผู้วิจัยได้มีแนวคิดในการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา  สถานประกอบการและอาจารย์  ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว  ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้อง  ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล  โดยระบบสามารถให้นักศึกษาเข้ามากรอกข้อมูลในแบบฟอร์มต่างๆ สำหรับบันทึกข้อมูลเบื้องต้นของนักศึกษาที่จะออกฝึกงานในสถานประกอบการต่างๆ ได้ซึ่งเป็นการลดความผิดพลาดที่เกิดจากลายมือที่เขียนไม่ชัดเจนและนักศึกษายังสามารถตรวจสอบสถานะของตนเองในการดำเนินการได้  นอกจากนี้ระบบนี้ยังสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานประกอบการต่างๆ ที่นักศึกษาสนใจจากฐานข้อมูลเดิม  อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศขับเคลื่อนการบริหารจัดการภายในองค์กร และการสื่อสารกับหน่วยงานภายนอกของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

1.2    วัตถุประสงค์ของโครงการ
1.2.1)  เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศการฝึกงานของนักศึกษา  คณะบริหารธุรกิจ  มทร.รัตนโกสินทร์  วิทยาเขตวังไกลกังวล  โดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ
1.2.2)  เพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบสารสนเทศการฝึกงานของนักศึกษาฯ โดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ
1.2.3)  เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้งานที่มีต่อการใช้งานระบบสารสนเทศการฝึกงานของนักศึกษา
1.2.4)  เพื่อนำระบบไปใช้ในการสนับสนุนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา

1.2.5)  เพื่อนำข้อมูลจากระบบมาทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดระบบสหกิจศึกษาต่อไป